ข่าวการศึกษา

ถกข้อเสนอวางทิศทางปฎิรูปการศึกษา


    

          คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษา ถกประเด็นปฎิรูปการศึกษา เร่งหาแหล่งเงินทุนการศึกษา คาดร่างพ.ร.บ.กองทุนการศึกษาต้องเสร็จ เม.ย.2561

          ที่สำนักงานสภาการศึกษา (สกศ.)  คณะกรรมการอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษา ได้จัดประชุม เรื่องข้อเสนอประเด็นการปฎิรูปการศึกษาเพื่อสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ซึ่งมีคณะอนุกรรมการด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการปฎิรูปการศึกษา 5 ชุด เข้าร่วมโดยนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานอนุกรรมการกองทุน กล่าวว่า  การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้มีความเห็นที่หลากหลาย ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเราจะหาเงินเข้ากองทุนได้จากส่วนใดบ้าง หรือจะนำงบประมาณกลางขอรัฐบาลมาใช้ แต่การนำงบประมาณกลางของรัฐมาใช้ตนมองว่ายังไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น เพราะงบดังกล่าวรัฐจำเป็นต้องใช้ในด้านอื่นมากกว่าโดยเฉพาะด้านสาธารณสุข ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญในการหาแหล่งที่มาของเงินเข้ากองทุนนี้  ขณะเดียวกันก็เหลือเวลาไม่มากจึงต้องเร่งดำเนินการ เพราะมีหลายขั้นตอนกว่าจะเสร็จเป็นกฎหมาย ซึ่ง พ.ร.บ.กองทุนการศึกษาเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.2561 และเมื่อมีกองทุนดังกล่าวเกิดขึ้นสิ่งที่เราจะได้รับในอนาคต คือ ขจัดปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา เด็กเล็กในครอบครัวยากจนได้รับการดูแล ขจัดปัญหาเด็กเยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในการศึกษาต่อ ครูที่ปฎิบัติหน้าที่ในพื้นที่ห่างไกลได้รับการพัฒนา และประกันโอกาสทางการศึกษา
            
          ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานอนุกรรมการปฎิรูปโครงสร้างการศึกษา กล่าวว่า ที่ประชุมข้อเสนอของโครสร้างการบริหารรูปแบบใหม่ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฎิรูปการศึกษา โดยความมุ่งหมายของการปฎิรูปโครงสร้างการศึกษาก็เพื่อตอบสนองต่อการปฎิรูปการศึกษาอย่างได้ผลและต่อเนื่อง โดยการปฎิรูปโครงสร้างจะใช้แนวทางการบริหารแบบกระทรวงสมัยใหม่ที่มีการถ่วงดุล โดยจะแยกระบบการศึกษาไทยออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนโยบาย ฝ่ายกำกับ และฝ่ายปฎิบัติ  โดยยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนปฎิรูปการศึกษา พร้อมให้อิสระกับหน่วยปฎิบัติคือ สถานศึกษา อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้นหลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วจะนำมาหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปอีกครั้ง
 
          ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า เรื่องของเด็กเล็กอย่ามองข้ามองค์กรปกครองท้องถิ่น ซึ่งมีบทบาทมากกว่าองค์กรปกครองท้องถิ่นหลายเท่า ขณะที่กองทุนขอฝากสั้นๆว่าจะทำกองทุนเพื่อความเสมอภาคหรือความเป็นเลิศ ซึ่งเราเน้นความเสมอภาค ดังนั้นต้องถามว่ามีทรัพยากรเพียงพอหรือไม่ และอย่าลืมว่าขณะนี้เรามีกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ส่วนเรื่องครูและอาจารย์จะทำอย่างไรให้จูงใจคนเก่ง คนดีมาเป็นครู และการจัดการเรียนการสอนไม่ใช่ปัญหา สามารถจัดเทคโนโลยีใหม่ๆให้ครูรุ่นใหม่ได้คิดเอง สุดท้ายเรื่องโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการองค์กรหลักทั้ง 4 แท่ง รวมทั้งโรงเรียนก็บริหารในรูปแบบคณะกรรมการอยู่แล้ว สิ่งที่ตนไม่เห็นด้วยคือระบบซิงเกิลคอนมานด์ที่ให้คนๆเดียวตัดสินใจ อย่างกระทรวงการอุดมศึกษาจะให้รัฐมนตรีหรือปลัดมาตัดสินใจ และให้มหาวิทยาลัยที่เคยเป็นอิสระกลับไปเป็นกรมหรือไม่ นอกจากนี้คณะกรรมการการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.)เป็นประธาน เป็นการเอา ผวจ.กลับมาดูแลครูเหมือนในอดีตซึ่งเคยมีปัญหา และผวจ.บางคนก็ไม่รู้เรื่องการศึกษา บางคนก็ไม่อยากทำ
              
         ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า  การเรียนแบบใหม่ เด็กไทยไม่ใช่ว่าเป็นเด็กไม่เก่ง ซึ่งหากเราจับจุดการพัฒนากลุ่มเด็กเก่งได้ เชื่อว่าจะต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย ส่วนเด็กที่เรียนอ่อนและปานกลางควรจะให้เด็กเก่งเหล่านี้มาเป็นติวเตอร์ให้เพื่อน  แต่ทั้งนี้ก็ต้องกลับมาตั้งคำถามว่ากล้าหรือไม่ที่เราจะตั้งเป้าหมายให้เด็กไทยเก่งกว่าเด็กสิงคโปร์ในอีก 20 ปีข้างหน้า 
              
           ศ.ดร.ศรีราชา วงศารยางค์กูร อดีตประธานผู้ตรวจเงินแผ่นดินของประเทศไทย  ผู้ทรงคุณวุฒิ  กล่าวว่า  ตนมองว่าการศึกษาภาคบังคับควรมีแค่ 9 ปีเท่านั้น เพราะจะทำให้เราได้นำงบประมาณมาดูแลเด็กอย่างเต็มที่  หากต้องจัดการศึกษาภาคบังคับ 12 ปีแบบปัจจุบันเหมือนเป็นการทุ่มงบฯ เพื่อดูแลเด็กมากขึ้นไปอีกทำให้ไม่ได้คุณภาพการศึกษาเท่าที่ควร  ซึ่งการจัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีเป็นโจทย์ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยให้ไม่ยึดติดใบปริญญา เราไม่จำเป็นต้องเน้นให้เด็กเรียนอัดแน่นทุก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ไม่ต้องนำวิชาการเข้าไปในตัวเด็กมาก เราต้องเปิดกว้างการเรียนรู้ให้แก่เด็กไม่ปิดกั้นโอกาสการเรียนรู้ และตนคิดว่าสิ่งสำคัญควรแยกการเรียนสายอาชีพตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา โดยให้เด็กได้เลือกเรียนรู้ด้วยตนเองตั้งแต่เล็กๆ...

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

...เดลินิวส์

ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

อาคารศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400

0 2354 5730-40 ต่อ 414-415

0 2354 5741

etv_cet@hotmail.com

Centre for Educational Technology

Building Sri-Ayudhaya st., Rajatavee distric Bangkok 10400, THAILAND

66 2354-5730-40 ext. 414-415

66 2354 5741

etv_cet@hotmail.com

©2018 etvthai.tv.All rights reserved